วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

จป. คืออะไร?

ชื่ออาชีพ : เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) Safety Officer

รหัสอาชีพ : 1-94.50 (TSCO) 2412 (ISCO)

นิยามอาชีพ :
ผู้ประกอบอาชีพนี้ทำหน้าที่แนะนำ กำกับดูแล รับผิดชอบให้พนักงานในสถานประกอบการได้รับความปลอดภัยในการทำงาน และสำรวจตรวจสอบความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอให้มีการป้องกัน หรือแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน ตามกฎหมายความปลอดภัยที่ประกาศใช้โดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

ลักษณะของงานที่ทำ :
ตามกฎหมายข้อบังคับให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ หรือโรงงาน อุตสาหกรรมที่มีพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ 1-49 คน จะต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน 3 ระดับ ดังนี้ ระดับพื้นฐาน ระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ถ้ามีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน 3 ระดับ ดังนี้ หัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับวิชาชีพ ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันดังนี้
หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับพื้นฐาน
1. ให้พนักงานปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ คำสั่ง คำแนะนำ หรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน 2. สำรวจสภาพการทำงาน และรายงานสภาพความไม่ปลอดภัยตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อนายจ้าง
3. รายงานการเกิดการประสบอุบัติเหตุอันตราย หรือการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานของลูกจ้าง ต่อนายจ้างโดยไม่ชักช้า
4. ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
5. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ตามที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน หรือระดับบริหารมอบหมาย
หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
1. กำกับดูแลให้ลูกจ้างในหน่วยงานรับผิดชอบปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือมาตรการความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
2. สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
3. ตรวจสอบสภาพการทำงาน เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
4. ตรวจสอบสาเหตุการประสบอันตรายการเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญอันเนื่องมาจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับพื้นฐานหรือระดับวิชาชีพ และรายงานผลรวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
5. ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน
6. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย
หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
1. กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับพื้นฐาน ระดับหัวหน้างานและระดับวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎระเบียบ คำสั่ง หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
2. ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
หน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
1. ตรวจสอบ และเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
2. จัดทำแผนงาน โครงการ มาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
3. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของสถานประกอบการให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการหรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
4. กำกับดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
5. แนะนำ ฝึกสอน อบรมลูกจ้างเพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดภัยจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
6. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตรายการเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมากจากการทำงาน และรายงานผลรวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
7. รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ และจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตรายจากการเจ็บป่วย หรือเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมาจากการทำงานของลูกจ้าง

สภาพการทำงาน : ผู้ประกอบอาชีพนี้ อาจปฏิบัติหน้าที่ภายในตัวอาคารของสถานประกอบกิจการ หรือกลางแจ้งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจและชีวิต เช่น โรงงานผลิตประกอบ บรรจุ ซ่อมบำรุงรักษา ปรับปรุงตกแต่ง ดัดแปลงเพื่อการค้าแปรสภาพรวมถึงการต่อเรือ อู่เรือ การให้กำเนิดแปลงและจ่ายไฟฟ้า หรือพลังงานอย่างอื่น เหมืองแร่ เหมืองหิน กิจการปิโตเลี่ยม หรือสถานที่ก่อสร้าง เช่น ต่อเติม ซ่อมบำรุง สนามบิน ทางรถไฟ โทรเลข โทรศัพท์ไฟฟ้า ก๊าซ การขนส่งคนโดยสารทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งการขนถ่ายสินค้าสถานีบริการ หรือจำหน่วยน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ เป็นต้น ในสถานที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อสุขภาพและร่างกาย ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ต้องใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน เช่น แว่นตา หมวกนิรภัย เครื่องป้องกันหน้า ปลั๊ก และที่ครอบหูลดเสียง ที่ครอบปากและจมูก ชุดกันความร้อน ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ เข็มขัดนิรภัย รองเท้า ครีมทาผิว หรือเครื่องเฝ้าอันตรายที่ติดตัวบุคคล เช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นๆ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ : ผู้ที่ปฏิบัติอาชีพนี้ในระดับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ ที่ต้องปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า หรือสาขาอื่นที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับคงวามปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรการอบรมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยใหม่ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2540

โอกาสในการมีงานทำ : เนื่องจากกฎหมายเพิ่งบังคับใช้ ทำให้สถานประกอบการทุกแห่งทั่วประเทศที่มีพนักงานหรือ ลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องทำการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพทุกองค์กร ดังนั้นตลาดแรงงานในอาชีพนี้จึงยังมีความต้องการบุคลากรประเภทนี้อยู่มาก

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ : สำหรับผู้มีความสามารถอาจจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับผู้บริหารและอาจเป็นผู้จัดการฝ่าย หรือฝ่ายบริหารสูงสุดแล้วแต่โครงสร้างของสายงานขององค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น